วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จังหวัดสระบุรีทำพิธีถวายราชสดุดีเนื่องใน”วันฉัตรมงคล

วันนี้ (5 พ.ค.56) 08.29 น. นายถาวร พรหมมีชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ประธานในพิธี นำคณะหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ อัยการ ทหาร ตำรวจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน พ่อค้า ประชาชน ตลอดจนกลุ่มพลังมวลชน ต่าง ๆ กระทำพิธี ถวายเครื่องราชสักการะ (พุ่มทอง พุ่มเงิน) ถวายราชสดุดีเนื่องในวันฉัตรมงคล เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีของเหล่าพสกนิกรชาวจังหวัดสระบุรี มีพระธรรมปิฎก เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นำคณะสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ เจริญพระพุทธมนต์ ,เจริญชัยมงคลคาถา ณ. อาคารหอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัด(หลังเก่า) บริเวณศาลากลางจังหวัดสระบุรี วันฉัตรมงคล เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และดำรงพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช"เนื่องจาก ยังมิได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ จึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย ดังนั้นทุกรัฐบาลไทยและ พสกนิกร จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือรัฐพิธีฉัตรมงคล หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันมงคลสมัย พสกนิกรและรัฐจึงได้ร่วมกันจัดพระราชพิธีขึ้นเรียกว่า รัฐพิธีฉัตรมงคล บ้างก็เรียก พระราชพิธีฉัตรมงคลเพราะฉะนั้นจึงเป็นวันที่พสกนิกร ปวงชนคนไทย ควรระลึกถึงและทบทวนความจำว่าตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ ก็จะระลึกได้ว่า ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช นั้น ท่านได้ทรงพระราชกรณียกิจมีมากมายล้นเหลือในหลายสิบด้าน พระราชกรณียกิจที่ต้องทรงทำในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่ต้องยอมรับว่ามีประโยชน์ด้วยอย่างมหาศาลแก่ชีวิตของคนไทยนั้น คือพระราชกรณียกิจที่อาจเรียกได้ว่าพระราชกรณียกิจพิเศษ ที่ทรงทำด้วยความสมัครพระทัย พระราชกรณียกิจพิเศษเหล่านี้เกิดขึ้น จากการที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้ทรงเห็นและตระหนักในทุกข์ของประชาชน และกลายเป็นความผูกพันและห่วงใยอันลึกซึ้งและยืนยาวที่ทรงมีต่อประชาชน ความผูกพันและห่วงใยนี้เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่นิ่ง ไม่ได้ ต้องทรงทุ่มเท พระวรกายและพระราชหฤทัยคิดค้นหาทางอยู่ตลอดเวลาที่จะทำให้ ประชาชนคลายทุกข์และอยู่ดีกินดี เพราะประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เป็น เกษตรกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสนพระทัยโดยเฉพาะในเรื่องดินและน้ำ อันเป็นปัจจัยสำคัญของเกษตรกรรม ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองจนทรงมีความรู้แตกฉาน ทรงสามารถที่จะร่วมกับเจ้าหน้าที่และนักวิชาการ พิจารณาแก้ปัญหา และพระราชทานความคิดเห็น ที่นำไปสู่โครงการตามพระราชดำริ ที่มีอยู่ประมาณ 3,000 โครงการทั่วประเทศ เกี่ยวกับ การเมือง นั้น ทรงถือพระองค์ว่าอยู่เหนือการเมือง และเป็นหน้าที่ของรัฐสภาแต่ละสมัยและรัฐบาลแต่ละชุด แต่เพราะเมืองไทยมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง บางครั้งก็รุนแรงจนกลายเป็นการปะทะกันด้วยกำลังระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกัน มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ในกรณีเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงระงับเหตุ แต่การระงับเหตุ ก็เป็นไปแต่ในรูปของการพระราชทานพระราชดำรัสพระราชทานสติ แนะนำผู้เกี่ยวข้อง ให้ยุติความรุนแรง หันหน้าเข้าหากัน และกลับไปสู่ความเป็นปกติดังเดิม วิกฤตการณ์ทางการเมือง ทำให้เกิดรัฐประหารและยึดอำนาจการบริหารบ้านเมืองหลายครั้ง แต่ทุกครั้งผู้ยึดอำนาจได้ ก็ไม่มีทางเลือก ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นเหตุให้เมืองไทยมีรัฐธรรมนูญมากถึง 17 ฉบับ แต่ที่เราหลายคนอาจจะนึกไม่ถึงกันก็คือ ทุกฉบับยอมรับความเป็นประมุขของพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือ ยอมรับการปกครองในระบอบที่ทั่วโลกเรียกในภาษาอังกฤษว่า constitutional monarchy(ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ) เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลกันอย่างไรเพียงใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังคงดำรงฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจถูกกำหนดและจำกัดโดยรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ระบอบประชาธิปไตยแบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้รับการพิสูจน์ด้วยกาลเวลา ว่าเป็นระบอบที่ประชาชนคนไทยยอมรับ แม้บางยุคบางสมัยจะมีผู้พยายามนำระบอบอื่นเข้ามาใช้กับเมืองไทยแต่ประชาชนก็ปฏิเสธ และถ้าผู้นิยมระบอบอื่นนั้นใช้กำลังบังคับ ประชาชนก็ต่อสู้ ในการต่อสู้ที่เคยเกิดขึ้นแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงทิ้งประชาชน และประทับอยู่กับประชาชนตลอดจนพ้นวิกฤตกาล วันฉัตรมงคลปีนี้ คนไทยจึงควรถือเป็นวันมงคลของชาติ เราปวงชนทุกคนควรทำแต่สิ่งที่เป็นมงคลแก่ตนเองและแก่บ้านเมือง ด้วยการน้อมรำลึกถึงการอุทิศพระวรกายและพระราชหฤทัยอันใหญ่หลวงและยาวนานที่ พระราชทานแก่คนไทยและเมืองไทย หากนึกไม่ออกว่า ในวันมหามงคลวันนี้ จะสนองพระมหาเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณอย่างไร ก็ควรทำด้วยการงดเว้นไม่ทำความชั่ว ทำแต่สิ่งที่เชื่อว่าเป็นความดี และทำใจของตนให้สงบและสะอาด ไม่ยอมให้มัวหมองเพราะกิเลส แล้วน้อมเกล้าฯ อุทิศผลบุญที่ได้ถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา (คนธรรมดา ม้าตัวเดียว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น