วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ชัยพร พรหมพันธุ์ แบบอย่าง เกษตรอินทรีย์ วิถีคนไทย



ชัยพร พรหมพันธุ์

       
            ชาวนาเมืองไทย ยุค คสช. จะเดินหน้าต่อไปได้ หรือ จะหันหลังเข้าคลอง ยังไม่มีใครตอบได้ เมื่อราคาข้าว ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 6,000-7,000  บาท ในขณะที่ต้นทุน ของชาวนาเมืองไทยอยู่ที่ 6,000 บาท เมื่อเทียบกับ ข้างบ้าน ทั้งเวียตนาม  กัมพูชา  ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 4,000  บาท  มองกันผิวเผิน ก็พอสรุปได้ว่า  ชาวนาบ้านเรา .. ตายหยังเขียด เพราะทำไปก็มีแต่จะขาดทุน ..

           อาจเป็นโชคชะตา ที่ทำให้ชีวิตชาวนา ต้องพลิกผัน ย้อนกลับสู่ วิถีชีวิตแบบเดิม  ทำนาตามแบบฉบับ ที่ ปู่ย่าตายายสอนกันมา  เกษตรอินทรีย์ วิถีคนไทย คงเป็นคำตอบ ในวิถีชาวนา ยุค คสช. ก็เป็นได้ หยุดการใช้ปุ๋ยเคมี  ยาปราบศัตรูพืช  แต่หันกลับมาใช้ วิถีเกษตรแบบดั้งเดิม  .. เกษตรอินทรีย์ วิถีคนไทย





          นายชัยพร  พรหมพันธุ์ ชาวนาวัย 53 ปี อยุ่ที่ ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษา แค่ ป. 6 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอบางปลาม้า และ คุณวิมล พรหมพันธุ์  คู่ชีวิต คือแบบอย่างของ ชาวนาในยุค คสช. ทำนาแบบดั้งเดิม  " เกษตรอินทรีย์ " ต้นทุนการผลิต ต่อฤดูกาล ไร่ละไม่เกิน 2,000 บาท  ต่อให้ราคาข้าว เหลือเกวียนละ 6,000  บาท  พวกเขาก็อยู่ได้ เพราะมีต้นทุนที่ต่ำ

          "ผมล้มมาเยอะเหมือนกัน" สำเนียงเหน่อ ๆ ของลูกชายคนโตของผู้ใหญ่ประคอง คุณแม่ละเอียด พรหมพันธุ์  อดีตรองนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบ้านแหลมพัฒนา ต.บ้านแหลม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี  ผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ผู้เพียรพยายามหาหนทางตั้งตัว เคยทำแม้แต่นากุ้งและสวนผลไม้คละชนิด แต่สู้น้ำไม่ไหว ต้องกลับมาเป็นชาวนาตามรอยพ่อ



           แม่โปรย  ยิ้มประเสริฐ  แม่ของคุณวิมล  พรหมพันธุ์  เล่าว่า ชัยพร เขาเป็นคนเก่ง  และมีวิถีชีวิต แบบชาวบ้าน  เครื่องซักผ้าก็ทำใช้เอง ดัดแปลงเอาถังน้ำ เอามอเตอร์มาปั่นผ้า เห็นแล้วก็รู้สึกดีใจ  แทนวิมล ลูกสาว  ที่ได้สามีที่ดี ขยัน อดทน  ประหยัด  กินง่าย อยู่ง่าย เหมือนพ่อเขา  ที่บ้านมักมีคนมาเยี่ยมอยู่บ่อยๆ  เป็นพวกอาจารย์มหาวิทยาลัยบ้าง  พวกที่อยากมาดูวิธีการทำนาแบบพอเพียง  ของชัยพร บ้าง ที่ทุกคนที่มาก็ง่ายๆ  มาถึงบ้านมีอะไรกินก็กิน  แม่โปรยเล่าให้ฟัง ถึงวิถีชีวิต ของ " ลูกใหญ่ " ชัยพร พรหมพันธุ์ ลูกเขย



          "ทำนาเคมีมา 20 กว่าไร่ ครั้งแรกเมื่อปี 2525 ได้ข้าว 13 เกวียน จำได้แม่นเลย ขายได้เกวียนละ 2,000 บาท ขาดทุนยับ พอดูหนทาง เลยไปสมัครเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คิดว่าจะได้เบิกเงินค่าเรียนลูก เพราะมองอนาคตแล้วว่าไม่มีปัญญาส่งลูกแน่ แต่ปี 2531 เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอาละวาดหนัก แถวบ้านเราโดนกันหมด ก็พอดีอาจารย์เดชา ศิริภัทร ทำเรื่องนาอินทรีย์และใช้สมุนไพร มาขอทำแปลงทดลองปลูกสมุนไพร พ่อก็แบ่งนาให้ 5 ไร่ ด้วยความเกรงใจ อาจารย์ก็เริ่มทดลองใช้สะเดาสู้กับเพลี้ย เครื่องไม้เครื่องมือเยอะ ผมก็ไปช่วยอาจารย์ฉีด ก็ฉีดไปยังงั้น เราไม่ได้ศรัทธาอะไร แต่ปรากฎว่าแปลงนาที่สารเคมีเสียหายหมด ส่วนแปลงนาที่ฉีดสะเดากลับไม่เป็นอะไร



          ผมก็เริ่มจะเชื่อแล้ว แต่ก็ยังไม่เต็มร้อย เลยเอามาทำในนาของผมเอง ซึ่งปีนั้นชาวนาโดนเพลี้ยกันเยอะมาก หน่วยปราบศัตรูพืชจังหวัดสุพรรณบุรี เขาเลยเอายาที่ผสมสารเคมีมาแจก ผมก็ลองเอามาใช้ โดยแบ่งว่าแปลงนานี้ฉีดสารเคมี แปลงนานี้ฉีดสะเดา ซึ่งผลก็ปรากฎออกมาว่า แปลงนาที่ฉีดสะเดาปลอดภัยดี เก็บเกี่ยวข้าวก็ดี แต่แปลงที่ฉีดสารเคมีตายหมด ตั้งแต่นั้นมาก็เลยเชื่อสนิทใจ แล้วมาลองทำเองดู ผมก็หักกิ่งก้านสะเดามาใส่ครกตำเอง ภรรยาก็บ่นว่าทำไปทำไมเสียเวลา แต่ผมรั้น คือยังไงก็ขอลองหน่อย ก็เอาไปฉีดแล้วข้าวก็ได้เกี่ยว ผลผลิตก็ออกมาดีเกินคาด ทีนี้ชาวบ้านก็แห่มาขอสูตรเอาไปทำบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยมีใครประสบผลสำเร็จ เพราะเขาใช้สมุนไพรคู่กับยาเคมี บางคนใช้เคมีจนเอาไม่อยู่แล้วถึงหันมาใช้สะเดา พอมันไม่ได้ผลทันตาเห็น ก็กลับไปใช้สารเคมีกันเหมือนเดิม” เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา กล่าว




          การคิดต้นทุนของเขา ลงทุนเต็มที่ตกไร่ละ 2,000 บาท ในขณะที่ขายได้เกวียนละไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท ซึ่งหลังจากเขาทำนาอินทรีย์ได้เพียง 3 ปี มีเงินเหลือมากกว่า 6 ปี ที่มัวจมอยู่กับปุ๋ยยา อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ก็ใช่ว่าชัยพรจะหวงวิชาความรู้ เขายังได้ให้คำปรึกษากับผู้ที่มีปัญหา และสนใจในวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่โทรมถามาขอคำปรึกษาตามสายแทบจะทุกวัน

          ใครว่าทำนาแล้วจน...ไม่จริงหรอก" ชัยพรยืนยันหนักแน่นซ้ำอีก สำคัญตรงที่ต้องทำนาแบบใช้สมอง ไม่ใช่ทำนาแบบเป็นผู้จัดการนาสถานเดียว




          "ถ้าเป็นผู้จัดการนาล่ะจนแน่ มีมือถือเครื่องเดียวโทรสั่งตามกระแส มีนาอย่างเดียว ที่เหลือจ้างเขา เริ่มทำไร่นึงก็ต้องมีพันกว่า ตั้งแต่ทำเทือก ทำดิน ไปยันหว่าน เฉพาะได้แค่ต้นนะ ยังไม่รู้เลยว่าจะได้เกี่ยวไหม จากนั้นต้องฉีดยาคุมหญ้า ใส่ปุ๋ยอีกหลายพัน ของเราต้นทุนไม่กี่สตางค์ อาศัยว่าต้องละเอียดอ่อน ต้องรักษาธรรมชาติ แล้วก็ต้องเป็นลูกจ้างตัวเอง ไม่ใช่ผู้จัดการ พอไปพูดกับเขา เขาก็บอกนาเขาน้อย แล้วก็เช่าเขา ทำอินทรีย์ไม่ได้หรอก ผมก็บอกว่าเมื่อก่อนผมก็เช่า ทำไมยังทำได้ ทำจนมีเงินซื้อนา เขาไม่คิดย้อนกลับไงว่าสมัยปู่ย่าตายายทำนา มันมียาที่ไหนล่ะ คนโบราณยังได้เกี่ยว ของเรายังดี มีสะเดาให้ฉีด สมัยโบราณมีที่ไหนล่ะ ไอ้บางคนเห็นข้าวเราเขียว ก็บอกว่าคงแอบใส่ปุ๋ยกลางคืนละมั้ง แหม๋! กลางวันยังไม่มีเวลาเลย จะมาใส่ปุ๋ยกลางคืน มาฉีดให้งูมันเอาตายเรอะ" ชัยพร กล่าว

          ทุกครั้งที่ขายข้าวได้ เขาจะนึกถึงบุคคลที่นำเอาวิธีเกษตรอินทรีย์มาให้เขาได้รู้จัก และปรับใช้ในที่นาของเขา จนมีเงินเหลือเก็บ ... "ถ้าผมไม่ได้เจออาจารย์เดชาก็คงไม่ได้เกิดหรอก คงไม่ได้ส่งลูกเรียนปริญญาโทไป 2 คน อีกคนก็ว่าจะเรียนปีหน้า ลูกมาทีเอาเงินค่าเทอมทีละ 40,000 – 50,000 บาท ก็ยังเฉย ๆ เรามีให้"




          ขณะที่ อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ผู้เพียรพยายามเผยแพร่วิถีการทำนาอินทรีย์ยืนยันว่า ไม่ได้ช่วยอะไรชัยพรมากกว่านั้น ความสำเร็จทั้งปวงเกิดจากตัวชัยพรเอง แต่สำหรับชาวนา ป.4 ถือเป็นบุญคุณใหญ่หลวงที่ทำให้เขาก้าวมาได้ถึงวันนี้

          ลูก 3 คน ของชาวนา ป.4 คนโต จบปริญญาโท สาขาปรับปรุงพันธุ์พืช ที่มหาวิทยาลัยเกษตร กำแพงแสน คนกลาง จบปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ส่วนลูกสาวคนเล็กเพิ่งจบปริญญาตรี เกียรตินิยม จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ตอนนี้ทำงานธนาคาร ทุก ๆ เย็นวันศุกร์ที่ลูก ๆ กลับบ้าน ครอบครัวชาวนาเล็ก ๆ ก็จะคึกคักมีชีวิตชีวา ขับรถออกไปหาของอร่อยกินกัน ในขณะที่ชาวนาต้นทุนสูงนาติดกันไม่เคยคิดฝันว่าจะมีโอกาสเช่นครอบครัวของชัยพร




          ลมทุ่งพัดอู้มา เมฆตั้งเค้ามาทางขอบฟ้าตะวันตก นารกฟางของเขาแผ่ขยายออกไปลิบตา ชัยพรยืนพิงรถลากมองดูอย่างพอใจ ลูก ๆ โตกันหมด ได้เรียนกันสูง ๆ เปลื้องภาระไปอีกเปลาะ สองคนสามีภรรยาตกลงกันว่า นาปีนี้จะเอาโบนัสใหญ่คนละเส้น แล้วแบ่งรายได้แข่งกัน ลูกสาวคนโตบอกว่า เรียนจบโท แล้วจะกลับมาช่วยพ่อทำนา จะได้เพลาแรงพ่อ แต่พ่อกลับบอกว่า ยังทำนาสนุกอยู่

          "ลูกเขาไม่อายหรอกที่พ่อเป็นชาวนา พอเราออกทีวี อาจารย์เขาเห็น เพื่อนเขาเห็น ยังมาถามเลยว่า ไม่เห็นบอกเลยว่ามีพ่อเป็นถึงเกษตรกรดีเด่นของประเทศ บางทีต่อไปถ้าคนเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์กันทั้งประเทศ นาดีมีกำไรกันหมด การบอกใครต่อใครว่าเป็นลูกชาวนา อาจเป็นความภูมิใจ เหมือนกับยุคหนึ่งที่คนได้ปลื้มไปกับการเป็นลูกพระยาก็ได้" ชัยพร กล่าวหน้าบาน พร้อมเล่าต่อว่า ตอนนี้เรายังทำสนุก ก็อยากขยายที่ทำให้กว้างออกไป ทำไปเถอะ ทำไปเรื่อย ๆ ทำเพลิน ๆ ไม่ขาดทุนหรอก ทำนาน่ะ มีแต่กำไร บอกกับตัวเองว่าถ้าฤดูนี้ได้ร้อยกว่าเกวียนจะขอโบนัสทอง 10 บาท บอกอย่างนี้ก็เลยต้องขยันฉีดฮอร์โมน ทำดิน ทำจิปาถะ แล้วก็ได้




          และนี่คือวิถีชีวิตของ ชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาตัวอย่าง ในยุคปัจจุบัน   ที่สามารถลบคำกล่าวที่ว่า "ทำนามีแต่จน" ได้สำเร็จ… โดยทั้งหมดทั้งมวลที่ทำให้เขาสามารถมีวันนี้ได้ก็เพราะการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี นอกจากจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นอีกด้วย และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จคือ การเป็นคนขยัน ลงมือปฏิบัติเอง แถมไม่กู้หนี้ให้เป็นภาระอีกต่างหาก… 





เรวัติ  น้อยวิจิตร  สุพรรณบุรีนิวส์  rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น