วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

จังหวัดทหารบกสระบุรีทำพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล ประจำปี 2557

วันที่ 18 มกราคม ถือเป็นวันกองทัพไทย จังหวัดทหารบกสระบุรี ได้จัดกระทำพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล ประจำปี 2557 ของหน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดสระบุรี โดยมี พลตรี วิบูลย์พงศ์ อินทะพงษ์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสระบุรี เป็นประธานตรวจพลสวนสนาม มีข้าราชการทั้งทหาร ตำรวจ หน่วยงานราชการต่างๆ ร่วมพิธี ซึ่งพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย จังหวัดทหารบกสระบุรี ได้ประกอบพิธีขึ้นอย่างสมเกียรติ ณ ลานพื้นแข็งจังหวัดทหารสระบุรี มีหน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดสระบุรีเข้าร่วมพิธี ได้แก่กองพันทหารม้าที่ 23 รักษาพระองค์ กองพันทหารม้าที่ 24 รักษาพระองค์ กองพันทหารม้าที่5 รักษาพระองค์ กองพันทหารม้าที่ 11รักษาพระองค์ กองพันบริการ ศม. กองพันนักเรียนนายสิบ กรมนักเรียน รรม.ศม. กองพันซ่อมบำรุง กรมสนับสนุนพล.ม.2 รอ.กองพันทหารม้าที่ 27 รักษาพระองค์ มี พ.อ.วิชัย ธารีฉัตร ผบ.ม.5 รอ. เป็นผู้บังคับกองผสม
สำหรับการประกอบพิธีสวนสนามและปฏิญาณตนต่อหน้าธงชัยเฉลิมพลนี้เป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงสร้างวีรกรรมในสงครามยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ตามการคำนวณจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ. 954 คำนวณได้ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 เดิมนั้นกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ภายหลังได้มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ตรวจสอบ และพบว่าวันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม แต่น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคม ปีดังกล่าว ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทยต่อไป จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของ กระทรวงกลาโหม
ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร องค์พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหารเป็นคราวๆ ละหลายธง โดยประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา พระราชพิธีตรึงหมุด ธงชัยเฉลิมพล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีนี้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรึงธงแต่ละผืนติดกับด้ามธง โดยทรงตอกฆ้อนเงินลงบนตะปูทองเหลืองอย่างแน่น ธงหนึ่งมีรูตะปูประมาณ 32-35 ตัว ที่ส่วนบนของคันธงจะมีลักษณะเป็นปุ่มโลหะกลึงกลมสีทองภายในกลวง ปุ่มกลมนั้นทำเป็นฝาเกลียวปิด-เปิดได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงบรรจุเส้นพระเจ้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปที่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกแล้ว ชื่อ พระยอดธง ลงในปุ่มกลมแล้วทรงปิดฝาเกลียวขันแน่น ทรงเจิมแป้งกระแจะจันทน์ที่ยอดธงทุกคัน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา
ธงชัยเฉลิมพล เป็นธงประจำหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธงชัยเฉลิมพลถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของทหาร เป็นเกียรติยศของหน่วยทหารนั้นๆ เมื่อเวลาเข้าสู่สงคราม ทหารทั้งปวงต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลของหน่วยตนไว้ด้วยชีวิต ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องนำความองอาจ กล้าหาญ แห่งหมู่ทหารทั้งปวง ให้เข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูให้ได้ชัยชนะกลับมา การปฏิบัติต่อธงชัยเฉลิมพลทุกขั้นตอน ต้องเป็นไปตามพิธีการ ระเบียบแบบแผนที่วางไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน ในโอกาสที่จะเชิญธงชัยเฉลิมพลออกประจำที่ จะต้องเป็นพิธีการที่มีความสำคัญเกี่ยวกับเกียรติยศและเชิดหน้าชูตาเท่านั้น เช่น พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของทหาร และไปราชการสงคราม เป็นต้น
(คนธรรมดา ม้าตัวเดียว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น