วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กอ.รมน.สระบุรีเข้าตรวจสอบนายทุนบุกรุกป่ากว่า 1000 ไร่

กอ.รมน.สระบุรีเข้าตรวจสอบนายทุนบุกรุกสร้างทางขึ้นเขาเข้ายึดเขาไอ้ก้านรอยต่อ 2 จังหวัดสระบุรี ลพบุรี กว่า1000 ไร่ คาด สร้างรีสอรท์ เมื่อ 7 ส.ค.56 เวลา11.00 น.พลตรีนพดล พิศวง รองผอ.กอ.รมน.สระบุรีได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีกลุ่มนายทุนกำลังใช้แบ๊คโฮบุกรุก แผ้วถางทางสร้างถนน ด้าน อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ขึ้นเขาไอ้ก้านเพื่อเข้ายึดหุบเขาด้านในข้าม รอยต่อ อ.แก่งคอย จ.สระบุรีจึงประสานกับนายสิทธา ภู่เอี่ยม ปลัดอาวุโส อ.พัฒนานิคม นำกำลังฝ่ายปกครองผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านหมู่ ที่ 8 และหมู่10 ต.ช่องสาลิกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรีหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลบ.1 (ห้วยหิน) เดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่ทางเข้าซอย 15 อ.พัฒนานิคม พบมีการใช้เครื่องมือหนักแผ้วถางป่าสร้างถนนขึ้นไปบนเขาไอ้ก้านที่มีลักษณะสูงชันมากการเดินทางต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น ตลอดทางมีการไถดินและต้นไม้เปิดทางกว้างประมาณ10 เมตรตลอดระยะทางกว่า 4 กม.เข้าไปในหุบเขาจนเข้าเขต อ.แก่งคอย จ.สระบุรีเป็นพื้นที่ลาดต่ำกำลังถูกแผ้วถาง พร้อมกับเปิดเส้นทางใหม่ เมื่อเดินทางข้ามขึ้นเขาที่สูงชันระยะที่ 2 จะพบหุบเขามีการปลูกพืชไร่ รวมกว่า 1000ไร่ บริเวณโดยรอบเป็นเขาสูงชัน ถึงบริเวณ พิกัด 07-12456,16-31567 พบคนงานจำนวน 3 คนขณะทำงาน เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวสอบสวนเบื้องต้นทราบชื่อ นายธงชัย อักษร อายุ 42ปี บ้านเลขที่1/6หมู่ที่ 6 ต.พุกร่างอ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เป็นคนขับรถแบ็คโฮยี้ฮ้อโคมัตสุ สีเหลือง- น้ำเงิน พร้อมกับ นายวุฒิชัย รูปอ้อน อายุ16ปี อยู่บ้านเลขที่103 และนายปรีชา เพชรอยู่ อายุ 33 ปี บ้านเลขที่ 71 ทั้งคู่อยู่หมู่10 บ้านคลองตะเคียน ต.ช่องสาลิกา อ.พัฒนานิคม จ.สระบุรีเป็นคนเฝ้าของ โดยได้รับจ้างจากเสี่ยคนหนึ่งในจังหวัดลพบุรี
ต่อมานายปัญญาพล เสถียรพานิช ผอ. ส่วนป้องกันและรักษาป่าและป้องกันไฟป่าสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี ได้เดินทางมาเข้าตรวจสอบพื้นที่ แจ้งว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท ตาม พรบ. นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาทปี พ.ศ.2483โดยแจ้งว่า พรบ.ป่าไม้ เกิดขึ้นทีหลังจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนิคมฯและกล่าวถึงการแผ้วถางป่าเป็นการใช้รถดันหรือเกรดต้นไม้ล้มโดยไม่ได้ทำการตัดไม้หวงห้าม จึงไม่มีอำนาจดำเนินการ เพียงแต่จะให้เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลบ.1 (ห้วยหิน) ทำการสอบสวนทำบันทึกส่งให้กับนิคมฯดำเนินการ สร้างความสงสัยให้กับคณะเจ้าหน้าที่ กอ.รมนสบ..และฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้าน จึงขอตรวจสอบแผนที่แล้วไม่พบการจัดสรรที่ดินตาม พรบ. ดังกล่าวให้กับราษฎรรายใดตาม พรบ.นิคมฯ ปี2483 แต่อย่างใด เป็นที่สังเกตุว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เป็นภูเขาสูงและไม่มีการกล่าวถึงพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พุทธศักราช 2485 และพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2504 กับมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 แต่อย่างใด
ด้านนายจรัญ เนียมรักษ์ ผญบ.หมู่ 8 นายสามารถ ศรีเดือน ผญบ.หมู่ 10 ต.ช่องสาลิกา อ.พัฒนานิคมและคณะกรรรมการหมู่บ้านกล่าวว่า จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบและสื่อมวลชน เข้าตรวจสอบทำความกระจ่างให้กับชาวบ้านด้วย ก่อนที่ป่าไม้หรือทรัพยากรของประเทศจะถูกทำลายไปมากกว่านี้
ทีมข่าวจึงขอนำประวัตินิคมดังกล่าวพอเป็นสังเขป เพื่อช่วยกันพิจารณาดังนี้ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง พระพุทธบาทสระบุรี ขึ้นในท้องที่อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอโคกสำโรง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และท้องที่อำเภอพระพุทธบาท อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยแยกเอาตำบลต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับอำเภอพระพุทธบาท ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการนิคมสร้างตนเอง นิคมสร้างตนเองแห่งนี้มีหน้าที่จัดสรรที่ดิน ให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยจากท้องที่ต่างๆ เกือบทั่วประเทศได้ขยายอาณาเขตการจัดสรรที่ดินออกไปอย่างกว้างขวาง ตามนโยบายของกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย หลังจากจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีโจรผู้ร้ายชุกชุมรบกวนความสงบสุขของสมาชิกนิคมสร้างตนเอง ด้วยเหตุนี้กรมประชาสงเคราะห์จึงมีนโยบายรวมเขตท้องที่อำเภอต่างๆ ในเขตจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี เพื่อยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอได้ประชุมหารือเรื่องนี้ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2503 และในที่สุดได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “กิ่งอำเภอพัฒนานิคม” เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2505 โดยแยกหมู่บ้านที่ 6,8,9,10,11,12,13 และ 14 ตำบลธารเกษม อำเภอพระพุทธบาทจัดตั้งเป็นตำบลช่องสาริกา โอนตำบลหนองบัว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มาขึ้นในเขตการปกครองของกิ่งอำเภอพัฒนานิคม จากนั้นยังได้โอนตำบลโคกสลุง ตำบลมะนาวหวาน อำเภอชัยบาดาล และตำบลดีลัง อำเภอโคกสำโรง มาขึ้นในเขตการปกครองของอำเภอพัฒนานิคมเช่นเดียวกัน ดังนั้นกิ่งอำเภอพัฒนานิคม จึงมีตำบลต่างๆขึ้นอยู่ในเขตการปกครอง 5 ตำบล รวม 30 หมู่บ้าน ตัวกิ่งอำเภอ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลดีลัง ต่อมาได้มีพระราชกฤษฏีกา ยกฐานะกิ่งอำเภอพัฒนานิคมเป็นอำเภอพัฒนานิคม เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2506 ปัจจุบันได้แบ่งการปกครองตำบลออกเป็น 8 ตำบล 75 หมู่บ้าน
(คนธรรมดา ม้าตัวเดียว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น