วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

วช.ปลื้มผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไทยโดดเด่นระดับโลก




              สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดสุดยอดผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไทยจากเวทีนานาชาติ โดยรองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ศักยภาพเหล่านี้สามารถยกระดับ ผลงานของไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับโลก




              พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวในการเป็นประธานงานเปิดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไทย ที่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.นำไปจัดแสดงและประกวดในเวทีระดับนานาชาติ ที่สมาพันธรัฐสวิส และสหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่ง วช.จัดขึ้นที่สำนักงาน วช เมื่อเย็นวันนี้ (4 พ.ค.61) ว่า  การที่ วช.นำผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีทั้ง 2 แห่งนี้ ถือเป็นการสร้างการยอมรับในระดับสากล ก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมกับต่างประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้รับรางวัลสำคัญในเวทีระดับนานาชาติ มีหลายผลงานที่คาดว่าผู้ประกอบการหลายรายสนใจจะร่วมต่อยอดในประเทศไทย




             ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานหลักในการนำ ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไทยทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมแสดงและประกวดในเวทีต่าง ๆ ทั้งระดับจังหวัด ภูมิภาค และนานาชาติ โดยเวทีล่าสุดที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ภายใต้ชื่องาน “46th International Exhibition of Inventions Geneva” เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งไทยเข้าร่วมเป็นปีที่ 7  แล้ว ถือเป็นเวทีใหญ่ระดับโลก มีผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไทยได้รับรางวัลใหญ่ถึง 30 ผลงาน จากผลงานเข้าประกวด 99 ผลงาน 29 หน่วยงาน




             เนื่องจากเป็นผลงานโดดเด่นและได้รับความสนใจอย่างมาก  โดยได้รับเหรียญทองเกียรติยศที่เป็นรางวัลสูงสุดของงาน 4 รางวัล และรางวัลเหรียญทอง 26 ผลงาน รวมทั้งยังได้รับรางวัลเหรียญเงินและเหรียญทองแดงอีก 33 ผลงาน และรางวัลพิเศษจากประเทศต่าง ๆ 25 ผลงาน นอกจากนี้ ยังมีผลงานโดดเด่นมากที่ได้รับรางวัลใหญ่และสำคัญยิ่งของงานอีก 1 รางวัล ซึ่งเป็นรางวัลเหรียญของนครเจนีวา จากผลงานเรื่อง “โปรแกรมสำหรับจับคู่การเดินทางร่วมกันแบบอัตโนมัติทางรถยนต์และรถแท๊กซี่ ด้วยฐานเวลาปัจจุบัน” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ และคณะแห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ช่วยลดการใช้พลังงานและลดโลกร้อน อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้งานด้วย
   



               ส่วนที่สหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นเวทีระดับนานาชาติสำหรับเยาวชนทั่วโลกร่วมนำเสนอผลงาน 17 ประเทศ 500 ผลงาน โดย วช.นำผลงานเยาวชนไทย ร่วมประกวด 12 ผลงาน และได้รับรางวัลใหญ่  International Grand prize Award จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ "ผลงานทุ่นผลิตพลังงานไฟฟ้าจากคลื่นทะเลสำหรับอนุรักษ์แนวปะการัง" ของนายนิติภูมิ แย้มจิตร และคณะ มหาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัล Double Gold Award อีก 2 ผลงาน เหรียญทอง 4 ผลงาน เหรียญเงิน 5 ผลงาน และรางวัลพิเศษจากองค์กร หน่วยงานต่างๆ 13 รางวัล




               ทั้งนี้ ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไทยที่ วช.สนับสนุนให้เข้าร่วมแสดงและประกวดในเวทีนานาชาติ จะคัดกรองผลงาน ที่เป็นทั้งต้นแบบและใช้งานได้จริง  ขณะนี้ วช.มีกิจกรรมเพิ่มเติม โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยที่มีผลงานได้รับรางวัลขอทุนวิจัยเพื่อต่อยอดเข้าสู่การผลิตและใช้ได้จริง และรัฐบาลยังมีนโยบาย ให้จัดทำบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย เพื่อให้เกิดการทดสอบทั้งในแง่การใช้งานและมาตรฐานความปลอดภัย วช.ในฐานะสำนักงานเลขานุการร่วมของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี  สิ่งสำคัญในยุทธศาสตร์คือ กำหนดให้งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ คน องค์ความรู้ และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสอดคล้องกับอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ




               เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มั่นใจว่า นักวิจัยไทยมีความสามารถ เทียบเคียงได้กับนานาประเทศ จึงมีผลงานที่ได้รับรางวัลมากมายอยู่ในระดับโลก  และเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศอย่างมาก




จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์  เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น