วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561

สุพรรณบุรี ชาวตำบลหนองสาหร่าย จัดกิจกรรมดำนา ตามรอยพ่อ




            ที่ศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยม้าลอย  ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี  นางสุวรรณ ตรีสิทธิเดช พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี นายณรงค์ ยางงาม พัฒนาการอำเภอดอนเจดีย์ พ.ต.อ.ยิ่งยศ เขินอำนาย ผกก.สภ.ดอนเจดีย์ นายพรสันต์ อยู่เย็น นายก อบต.หนองสาหร่าย นายอดุลย์ คงใจดี ผญบ.หมู่ 4 ต.หนองสาหร่าย ร่วมกับผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู นักเรียน และชาวบ้านเกษตรกร บ้านห้วยม้าลอย หมู่ 4 ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี  ร่วมกันจัดกิจกรรม ดำนาตามรอยพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 6 โดยโรงเรียนครอบครัว โรงเรียนบุตรเกษตรกร ชมรมผู้สูงอายุ  ได้ดำเนินการเปิดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านห้วยม้าลอย หมู่ที่ 4 ต.หนองสาหร่าย พร้อมกับได้เปิดป้ายชุมชนท่องเที่ยว บ้านห้วยม้าลอย ณ ศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยม้าลอย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีนายทรงพล เจตณาวณิชย์ ผอ.สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข ภายใต้มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้ยกที่ดินจำนวน 34 ไร่ ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน  









             ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 300 คน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างและพัฒนาพื้นที่กิจกรรม และกระบวนการเรียนรู้ตามรอยพ่อ ภายใต้ร่วมพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลหนองสาหร่าย โดยใช้กิจกรรมโรงเรียนครอบครัว โรงเรียนบุตรเกษตรกร ชมรามผู้สูงอายุ  ประชาชนและเยาวชนบ้านห้วยม้าลอย เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการสร้างสุขภาวะ การเรียนรู้และพัฒนาให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างจิตสำนึกและตระหนักถึง ความสำคัญในการเดินทางท่องเที่ยวควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน  และเพื่อเป็นการสร้างโอกาส กระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่พื้นที่ชุมชน และยังจะได้ช่วยกันอนุรักษ์วิถีชีวิตเกษตรกรไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ด้วย











             ในงานผู้นำชุมชน เกษตรกร บุตรหลานเกษตรกรในพื้นที่ ครู นักเรียน เยาวชน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมลงแขกดำนา ย้อนยุคแบบโบราญ เพื่อต้องการให้เยาวชนรุ่นหลังทราบวิถีชีวิตของเกษตรกรในการทำนา กว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเมล็ด ชาวนาต้องเอาหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เพื่อปลูกข้าวมาให้ประชาชนได้บริโภคกัน ซึ่งยังมีการโชว์แสดงของนักเรียน ในการเรียนรู้การทำนาแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การดำนา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว สาธิตวิธีการทำขวัญข้าว หรือเรียกขวัญข้าว  เรียกว่า ตำแหลว หรือ ตาเหลว เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ไผ่  เกษตรกรจะนำมาประกอบพิธีต่าง ๆ เกี่ยวกับความเชื่อ อาทิ การสู่ขวัญข้าว ช่วงตอนที่ข้าวเริ่มตั้งท้องออกรวง เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ และการแห่นางแมว เพื่อเป็นการทำพิธีขอฝนแบบโบราญ นอกจากนี้ได้มีชาวบ้านในชุมชนทำอาหาร คาว หวาน รสเด็ด ที่เป็นอาหารพื้นถิ่น มาจำหน่ายในราคาถูกเช่นข้าวราดแกง จานละ 20 บาทเท่านั้น สินค้าโอทอป และพืชผักปลอดสารพิษ จากเกษตรกรมาจำหน่ายกันด้วย    



 
 










ภัทรพล พรมพัก/ สุพรรณบุรี
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น